Archive | พฤษภาคม 27th, 2021

รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แบบอย่างการทำความดีในสังคมที่น่ายกย่อง

Posted on 27 พฤษภาคม 2021 by admin

ในปี พ.ศ.2535 ขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประทับ ณ พระตำหนักดอยตุง ได้ทอดพระเนตรข่าวความยากลำบากของครูอาสาสมัคร ชื่อ นส.วิไลลักษณ์ สุขสาย ครูโรงเรียนบ้านใหม่ห้วยหวาย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จากหนังสือพิมพ์  จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ความช่วยเหลือ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการช่วยเหลือพัฒนา สนับสนุนการศึกษา และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารในภาคเหนือ โรงเรียน กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) และโรงเรียน ตชด.ต่างๆตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โปรดให้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุขของประชาชนในถิ่นทุรกันดารและบนพื้นที่สูง และประทานนามว่า “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” ในทุนการกุศลสมเด็จย่า และได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินจาก”ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว.” ให้แก่โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เสมอมา

ทุกครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ โดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีออกทรงงาน พร้อมหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)  เพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข พระองค์ยังทรงสนพระทัยด้านการศึกษา เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ สอบถามครูถึงแนวทางการเรียนการสอนและพระราชทานกำลังใจแก่บุคลากร นอกจากนั้นยังทรงให้ความสนพระทัยครู กศน.เป็นพิเศษ มักโปรดเกล้าฯ ให้คณะครู กศน.เข้าเฝ้าเวลาที่ประทับ ณ ตำหนักที่ประทับบริเวณเขื่อนต่างๆ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ในปี 2551  เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ทรงเป็นอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการพัฒนาการศึกษาภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่ทรงเห็นถึงความเสียสละของครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร  โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า จึงก่อตั้งโครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัว โดยการคัดเลือกครูจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) หน่วยงานละ 3 รางวัล  รวมปีละ 9 รางวัล โดยพิธีการมอบ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” กำหนดเป็นวันที่ 6 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับ 1. โล่รางวัลครูเจ้าฟ้าฯ 2. ใบประกาศนียบัตร 3. เงินรางวัล 4. กองทุนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาชุมชน

นับจากปี 2552 มีครูที่ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มาแล้ว13 รุ่นรวม 114 คน สำหรับการมอบ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2563 (รุ่นที่ 12) และ ปี 2564 (รุ่นที่ 13) โครงการพระเมตตาสมเด็จย่าได้พิจารณาคัดเลือกครูผู้มีความเหมาะสม มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์แล้ว  แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนวันทำพิธีมอบรางวัลออกไปก่อน

               สำหรับครูทั้ง 9 คนที่ได้รับ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี2563 (รุ่นที่ 12) ได้แก่

ครูสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

1.สิบตำรวจเอกชายแดน ภู่นายพล ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายบ้านโกแประตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2.ดาบตำรวจวิโรจน์ ควรแจ่มดี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่ลอง ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

3.ดาบตำรวจหญิงจำเรียม พรมเพ็ชร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านประกอบออก ตำบลประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

ครูสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

1.นางวราภรณ์ กันธะรักษา ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านซอแข่วาคี ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

2.นางสาวณัฏฐนันท์ สุภาธง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยปง ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

3.นางศศิมา ไชยเดช ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบันนังสตา ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

1.นายสุพจน์ เรืองแก้ว โรงเรียนนาทวีวิทยาคม ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

2.นางสุชาดา จารงค์ โรงเรียนบ้านตะบิงติงงี ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

3.นายสุกรี แวหะมะ โรงเรียนบ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

สำหรับครูทั้ง 9 คนที่ได้รับ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2564 (รุ่นที่ 13) ได้แก่

ครูสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

1.ดาบตำรวจวีรชัย คำแก้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

2.ดาบตำรวจเขตต์ตวัน ยั่งยืนวณิชกุล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอาชีวศึกษาเชียงราย – พะเยา ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

3.ดาบตำรวจหญิงประพิน มะลิชู ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภักดี ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

ครูสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

1.นายภัทร แม่หละเจริญพร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านดูบลอคี ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

2.นายศิริ ถาวรวิจิตร ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านอะบอโด่ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

3.นางพาตีเมาะ ดีรี ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอรามันตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

1.นางมาลี บุญเทพ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

2.นางสาวเมธิญา ยะขาว โรงเรียนบ้านผาเดื่อ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย

3.นายอาดัม ยูโซะ โรงเรียนบ้านชะเอาะ ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

               คุณครูที่ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้าฯทุกคนได้ทำงานด้วยความเสียสละ ไม่เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ครูสอนหนังสือ แต่ยังได้ให้ความช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส และชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาตนเอง อย่างยั่งยืน ซึ่งสมควรได้รับการเผยแพร่คุณงามความดีและยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นแม่พิมพ์ และแบบอย่างการทำความดีในสังคมต่อไป

Comments (0)

ชลิต อินดัสทรีฯ ชวนรักษ์เล ปล่อยปลา ฟื้นฟูคืนสมดุลระบบนิเวศท้องทะเลไทย

Posted on 27 พฤษภาคม 2021 by admin

กระแสเที่ยวทิพย์ในยุคโควิด-19 เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพอันสวยงามของท้องทะเลไทย เพราะนอกจากความสวยงามของสถานที่ บรรยากาศดี ทะเลสวยน้ำใส หาดทรายขาวเหมาะแก่การพักผ่อนจนทำให้ประเทศไทย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลกแล้ว ความสมบูรณ์ของธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ก็มีส่วนสำคัญช่วยให้ทัศนียภาพอันสวยงามของท้องทะเลไทย มีมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหลและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ  

แม้ว่าความสวยงามใต้ท้องทะเลไทย จะได้รับการยอมรับว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรทางทะเลอย่างมากมาย ของพันธุ์พืช และสัตว์ทะเลนานาพันธ์ แต่กระนั้น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติก็มีมากเช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งเริ่มเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและการคุกคามของฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้สัตว์น้ำจำนวนลดน้อยลง บางสายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเล

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับท้องทะเลไทยและสานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้แบรนด์ “POP” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง ได้จัดกิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รักษ์เล ปล่อยปลา คืนสู่ธรรมชาติ” เพื่อร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง  โดยมี นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ ร่วมด้วย นางสาววิมลลักษณ์ ยงเห็นเจริญ กรรมการบริษัทฯ และ นายรัชกฤต ตันวิไลย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ นำทีมผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมแรงร่วมใจปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวและพันธ์กุ้งแชบ๊วยกว่า 300,000 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเล แม้แดดจะร้อนแต่ทุกคนก็ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางชายฝั่งทะเล อันเป็นการแสดงถึงความห่วงใยต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณชายหาดแม่รำพึง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง

นายรัชกฤต ตันวิไลย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง กล่าวว่า ระบบนิเวศทางทะเล มีความสำคัญอย่างมากต่อสมดุลโดยรวมของนิเวศบนบกและในน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติทางชายฝั่ง โดย

ทางศูนย์วิจัยฯจะเป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การผลิตและขยายพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งชนิดใหม่และที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์นี้รวมทั้งสัตว์น้ำที่หายากและที่ใกล้สูญพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ รวมถึงการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและจำหน่ายแก่เกษตรกร การให้คำปรึกษาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น  พันธุ์กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากะพงขาว ปูม้า หมึกหอม หมึกกระดอง หอยหวาน และปลากะรัง  เป็นต้น

“ตามแผนของปี 2564 ทางศูนย์ฯ จะต้องปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ต่ำกว่า 6,640,000 ตัว ได้แก่ ปลากะพงขาว 40,000 ตัว กุ้งกุลาดำ 3,000,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 3,450,000 ตัว หอยหวาน 120,000 ตัว และปลาหมึก 30,000 ตัว โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ฯได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติ” นายรัชกฤต กล่าว

ทางด้าน นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รักษ์เล ปล่อยปลา คืนสู่ธรรมชาติ”  เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อสังคมของบริษัทฯ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่บริษัทฯก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีส่วนช่วยรณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานในองค์กร รวมทั้งประชาชนคนไทย มีใจรักษ์และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น  โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การมอบทุนการศึกษา มอบทุนวิจัยสำหรับนักศึกษาวิศวะ  การมอบอุปกรณ์กีฬาให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล  การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพช่าง  กิจกรรมปลูกป่าชายเลน และกิจกรรมปล่อยพันธุ์เต่าคืนสู่ท้องทะเล เป็นต้น

Comments (0)

เรื่องล่าสุด