Categorized | ข่าว

แพทย์ราชวิถี เตือน! “ไขมันพอกตับ” อันตรายภัยเงียบ

Posted on 06 มิถุนายน 2019 by admin

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ตับ” เป็นอวัยวะสำคัญเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ มีบทบาทในกระบวนการทำงานของร่างกายเพื่อให้ดำรงชีวิตได้เป็นปกติ ทำหน้าที่คัดกรองสิ่งต่างๆ ในร่างกาย และปรับสภาพให้เหมาะสำหรับการใช้งานในแต่ละอวัยวะ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานสำรองของร่างกายด้วย ซึ่งหากตับมีความผิดปกติย่อมส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งมีสาเหตุได้หลายประการไดแก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ แบคทีเรีย เชื้อรา สารเคมีหรือสารพิษต่างๆ รวมถึง แอลกอฮอล์และภาวะไขมันพอกตับ  ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและภาวะแทรกซ้อนรวมถึงมะเร็งตับ เป็นต้น

ดังนั้นเรามารู้หน้าที่สำคัญๆของ “ตับ” คือ…

1.เป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานของร่างกายและเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่สะสมไว้มาเป็นพลังงานในการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเช่น เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาล เปลี่ยนไขมันให้เป็นพลังงานเพื่อให้เซลล์ต่างๆนำไปตามความต้องการของร่างกาย

2.ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกายหรือจากสิ่งที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย

3.สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

4.สังเคราะห์โปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นในร่างกาย

ปัจจุบันไขมันพอกตับถือว่าเป็นโรคตับที่พบมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปซึ่งมีคนอ้วนจำนวนมาก สำหรับในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยแม้ขณะนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าฝรั่ง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีข้อมูลจากการศึกษาต่างๆพบว่า ผู้ป่วยเบาหวาน 100 คน เป็นไขมันพอกตับประมาณ 50-70 คน ผู้ป่วยโรคอ้วน100 คน พบภาวะไขมันพอกตับถึง 40-90 คน แต่ทั้งนี้ ภาวะไขมันพอกตับเปรียบเสมือนภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำร้ายร่างกายเราโดยไม่รู้ตัว

สาเหตุของการเกิดไขมันพอกตับ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอันตรายต่อโดยเกิดการสะสมของไขมันที่ตับ ตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ตับแข็งและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

2.ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง จนทำให้เกิดไขมันจำนวนมากสะสมอยู่ที่ตับ

ไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่ไขมันเข้าไปแทรกที่เซลล์ของตับ ซึ่งหากสะสมมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ (เป็นภาวะไขมันพอกตับ) ทำให้ตับเกิดการอักเสบ หรือเซลล์ตับตาย และเกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นโรคตับแข็งและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นมะเร็งตับได้

ไขมันพอกตับเริ่มแรกจะไม่มีอาการ แต่จะเริ่มมีอาการหลังจากที่ไขมันสะสมอยู่ในตับจำนวนมาก โดยอาการที่พบคือ เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกไม่สบายท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้  มึนงง ความสามารถในการตัดสินใจและสมาธิลดลง นอกจากโรคไขมันพอกตับ ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ด้วย เช่น ตับโต เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องด้านบนขวา หรือกลางท้อง และอาจพบรอยปื้นคล้ำที่ผิวหนังบริเวณ คอ หรือใต้รักแร้ ในขณะที่ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีภาวะบางอย่างร่มด้วยเช่นการดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี จะมีเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งได้มากกว่าคนปกติ และหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปโรคตับแข็งและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น  มีของเหลวจำนวนมากในช่องท้องหรือที่เรียกว่าอาการท้องมาน การติดเชื้อของของเหลวในช่องท้อง  ภาวะซึมเนื่องจากของเสียคั่งในกระแสโลหิตและสมอง ภาวะตับวายระยะสุดท้าย ส่งผลให้ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิงและการเกิดมะเร็งตับซึ่งเป็นโรคที่มีความร้ายแรงและรักษาได้ยาก

ดังนั้น หลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ทุกท่านควรตระหนักถึงการเกิดไขมันพอกตับ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรา เพราะปัจจุบันวิถีการกินที่เปลี่ยนแปลงไปใกล้เคียงประเทศตะวันตกมากขึ้นเน้นการกินแบบฟาสต์ฟูดทำให้มีคนอ้วนมากขึ้น นั่นคือสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้ แต่ท่านสามารถปฏิบัติตัวง่ายๆเพียง…

1.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชชนิดต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเล เป็นต้น

2.ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นประจำก็จะช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนักและกระตุ้นระบบเผาผลาญ

3.หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องควบคุมปริมาณการดื่มแต่พอดี หรืองดดื่มไปเลย

4.ตรวจสุขภาพเป็นประจำรวมทั้งตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสตับอักเสบและการทำงานของตับเนื่องจากโรคตับในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการออกมา

ปัจจุบัน รพ.ราชวิถี ยังมีผู้ป่วยด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมากที่รอคอยการรักษา  ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์กับโรงพยาบาลราชวิถีได้ที่ ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถีหรือสอบถามโทร02-3548108-37 ต่อ 3032 หรือกรอกข้อมูลผ่าน http://www.rajavithi.go.th

Comments are closed.

เรื่องล่าสุด